Netherlands, Kingdom of the; Holland

ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์; ฮอลแลนด์

​​     ​​​​ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็น ๑ ใน ๓ ประเทศของกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ (Low Countries) หรือกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* ซึ่งประกอบด้วย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) เนเธอร์แลนด์มีชื่อที่รู้จักกันดีอีกชื่อว่าฮอลแลนด์ (Holland) ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "haltland" (ฮอลต์แลนด์) หมายถึงแผ่นดินป่า (woodland) เนเธอร์แลนด์ก่อตั้งเป็นประเทศในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ หลังจากที่ ๗ มณฑลทางตอนเหนือของ "ดินแดนเนเธอร์แลนด์" แยกตัวออกจากการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* สายสเปน และเรียกชื่อประเทศว่าสหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ (United Provinces of the Netherlands) ส่วน ๑๐ มณฑลทางตอนใต้หรือราชอาณาจักรเบลเยียมในปัจจุบันที่เคยรวมตัวด้วยกันยังคงอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์กต่อไปอีกกว่า ๒ ศตวรรษ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ได้เจริญสูงสุดและถือเป็นยุคทอง เนเธอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางของความเจริญอีกแห่งของยุโรปทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรมอีกทั้งอำนาจและอิทธิพลของเนเธอร์แลนด์ยังขยายไปยังโพ้นทะเล ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* ทรงจัดตั้งเนเธอร์แลนด์เป็นราชอาณาจักรและโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุชาเสด็จไปปกครอง แต่ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ เนเธอร์แลนด์ก็ถูกยุบและรวมเข้ากับฝรั่งเศส หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ปราชัยที่ ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ได้ยกฐานะของเนเธอร์แลนด์ขึ้นเป็นสหราชอาณาจักรโดยรวมเบลเยียมเข้าไปด้วยเพื่อให้เป็นรัฐกันชนมิให้ฝรั่งเศสขยายตัวไปทางตอนเหนือและตะวันตก ต่อมาเบลเยียมได้ก่อกบฏและสถาปนาเอกราชได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๓๐ ระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* เนเธอร์แลนด์ได้รับพระราชทาน รัฐธรรมนูญและเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเมืองการปกครองในแนวทางของประชาธิปไตย รวมทั้งการปฏิรูประบบการบริหารอาณานิคมในปลายศตวรรษด้วย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เนเธอร์แลนด์ได้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถูกกองทัพเยอรมันเข้ารุกรานและยึดครองประเทศ หลังสงครามเนเธอร์แลนด์ได้รวมตัวทางเศรษฐกิจกับประเทศแผ่นดินต่ำอื่น ๆ จัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์ (Benelux Economic Union) ซึ่งต่อมาได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญ ๆ ในการก่อตั้งและเป็นสมาชิกเริ่มแรกขององค์การว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community - EEC)* หรือ

ตลาดร่วมยุโรป (Common Market) ที่ขยายขอบเขตความร่วมมือและพัฒนาเป็นสหภาพยุโรป (European Union - EU)* ในปัจจุบัน
     เนเธอร์แลนด์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป พรมแดนทางทิศตะวันตกและทิศเหนือติดต่อกับทะเลเหนือ (North Sea) ทางทิศตะวันออกติดต่อกับเยอรมนี และทิศใต้ติดต่อกับเบลเยียม มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๔๑,๕๒๖ ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบและโดยเฉลี่ยสูงกว่าระดับทะเลปานกลางเพียง ๑๑-๑๒ เมตรเท่านั้น พื้นที่ร้อยละ ๑๘ หรือเนื้อที่ ๗,๖๔๓ ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่น้ำ พื้นดินจำนวนไม่น้อยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาก จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศแผ่นดินต่ำ และต้องมีการสร้างเขื่อนจำนวนกว่า ๑,๕๐๐ แห่งเพื่อป้องกันน้ำทะเลและสร้างกังหันลมเพื่อระบายน้ำ แม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำไรน์ (Rhine) แม่น้ำมาส (Maas) หรือแม่น้ำเมิส (Meuse) และแม่น้ำสเกลเด (Schelde) ซึ่งมีต้นน้ำอยู่นอกประเทศและเมื่อไหลผ่านเนเธอร์แลนด์ก็แยกแขนงออกเป็นแม่น้ำสายอื่น ๆ และคูคลองต่าง ๆ จำนวนมาก นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ยังมีดินแดนโพ้นทะเลในทวีปอเมริกาใต้ที่รวมตัวเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรคือเนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส (Netherlands Antilles) พื้นที่ ๙๖๐ ตารางกิโลเมตร พลเมือง ๒๑๔,๒๕๘ คน ( ค.ศ. ๒๐๐๒) และดินแดนอารูบา (Aruba) พื้นที่ ๑๙๓ ตารางกิโลเมตร พลเมือง ๗๐,๔๔๑ คน ( ค.ศ. ๒๐๐๒)
     ระบอบการปกครองของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์เป็นแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีกรุงอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ซึ่งเป็นที่ประทับของพระประมุขและเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเป็นเมืองหลวง และเมืองเฮก (The Hague) เป็นที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาลและหน่วยงานราชการ รวมทั้งที่ตั้งของศาลโลก (World Court) ด้วย เมืองสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ เมืองรอตเทอร์ดัม (Rotterdam) เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๒ ของประเทศและเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และเมืองยูเทรกต์ (Utrecht) เป็นเมืองศูนย์กลางการขนส่งเนเธอร์แลนด์มีประชากรทั้งสิ้นจำนวน ๑๖,๖๔๕,๓๑๓ คน ( ค.ศ. ๒๐๐๘) และจัดว่าเป็นประเทศที่ประชากรอยู่อย่างหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป คือประมาณ ๓๙๕ คนต่อ ๑ ตารางกิโลเมตร ชาวเนเธอร์แลนด์หรือชาวดัตช์ (Dutch) สืบเชื้อสายมา จากชน ๓ กลุ่มใหญ่ ๆ คือพวกฟรีเซีย (Friscian) ปัจจุบันอาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพวกแซกซัน (Saxon) ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และพวกแฟรงก์ (Frank) ทางทิศใต้ นับรวมกันได้ประมาณร้อยละ ๘๓ ของประชากรทั้งประเทศ ที่เหลือเป็นชนชาติยุโรปอื่น ๆ ร้อยละ ๘ อีกร้อยละ ๙ เป็นพวกเติร์ก (Turk) โมร็อกโก (Moroccan) แอนทิลลีน (Antillean) สุรินัม (Surinamese) และอินโดนีเซีย (Indonesian) ภาษาราชการได้แก่ ภาษาดัตช์ และภาษาฟรีเซีย (Frisian) ชาวดัตช์ประมาณร้อยละ ๓๑ นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ ๑๓ นับถือนิกายดัตช์ปฏิรูป ร้อยละ ๗ นับถือนิกายกัลแวง ร้อยละ ๕.๕ นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ ๒.๕ นับถือศาสนาอื่น ๆ จำนวนประชากรกว่าร้อยละ ๔๑ ไม่ยืนยันว่านับถือศาสนาหรือนิกายใด
     เนเธอร์แลนด์เป็นดินแดนที่มีประชากรอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งสุดท้าย หรือเมื่อประมาณหลายแสนปีที่แล้ว เมื่อจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) ขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนเนเธอร์แลนด์ในศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสต์ศักราชซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์นั้น เนเธอร์แลนด์เป็นดินแดนที่มั่งคั่งดังปรากฏหลักฐานที่ "หลุมพระศพกษัตริย์ในออสส์" (King’s Grave in Oss) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยมีขนาดปากหลุมกว้างถึง ๕๐ เมตรและภายในบรรจุสิ่งของมีค่าต่าง ๆ เช่น พระแสงดาบทำด้วยเหล็กเดินลายด้วยทองคำและปะการังนอกจากนี้ ดินแดนเนเธอร์แลนด์ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าเยอรมันเผ่าต่าง ๆ อาทิ พวกทูบันที (Tubanti) แคนนิเนเฟต (Canninefate) ฟรีเซีย (Frisian) และบาตาเวีย (Batavian) ซึ่งชนเผ่าหลังสุดนี้ถือกันว่าเป็นบรรพบุรุษที่แท้จริงของชาวดัตช์ในปัจจุบัน
     หลังจากจักรวรรดิโรมันสามารถพิชิตดินแดนแผ่นดินต่ำแล้ว ก็เริ่มสร้าง "เมือง" ต่าง ๆ ขึ้นซึ่งถือว่าเป็นเมืองแห่งแรก ๆ ของเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ เมืองยูเทรกต์ เมืองเนเมเกน (Nijmegen) และเมืองมาสตริกต์ (Maastrict) ทางตอนใต้ของแม่น้ำไรน์ (Rhine) ส่วนดินแดนทางตอนเหนือที่อยู่นอกเขตของจักรวรรดิเป็นที่อาศัยของพวกฟรีเซียซึ่งยังคงพำนักและสืบเชื้อสายต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี พวกฟรีเซียก็รับความเจริญต่าง ๆ จากชาวโรมันด้วยโดยเฉพาะตัวอักษรดินแดนเนเธอร์แลนด์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของโรมันเป็นเวลากว่า ๒๕๐ ปีในช่วงระยะเวลาดังกล่าวพ่อค้าโรมันสามารถเดินทางเข้ามาค้าขายได้อย่างอิสระโดยนำสินค้าจากเมืองต่าง ๆ ในอิตาลีและแคว้นกอล (Gaul) เข้ามาจำหน่าย ชาวโรมันยังได้สร้างศาสนสถานทำไร่ขนาดใหญ่และนำความเจริญต่าง ๆ มาสู่เนเธอร์แลนด์
     ประมาณ ค.ศ. ๓๐๐ อำนาจและอิทธิพลของโรมันในเนเธอร์แลนด์ก็เริ่มถดถอยลง เนื่องจากถูกอนารยชนเยอรมันเผ่าอื่น ๆ จากตะวันออกเข้ารุกราน ได้แก่ พวกซักซันเข้าครอบครองดินแดนทางตะวันออกและพวกแฟรงก์ทางตะวันตกและตอนใต้ ส่วนพวกฟรีเซียสามารถยืนหยัดรักษาดินแดนทางตอนเหนือไว้ได้ อย่างไรก็ดี ในบรรดาผู้รุกรานทั้งหมด อนารยชนเผ่าแฟรงก์เป็นพวกที่มีอำนาจที่สุด หลังจากจักรวรรดิโรมันด้านตะวันตกล่มสลายใน ค.ศ. ๔๗๖ และยุโรปได้เข้าสู่สมัยกลาง (Middle Ages) พวกแฟรงก์ก็สามารถตั้งอาณาจักรของตนเองได้ ใน ค.ศ. ๔๙๖ พระเจ้าคลอวีสที่ ๑ (Clovis I) กษัตริย์ของชนเผ่าแฟรงก์ทรงหันมานับถือคริสต์ศาสนาขณะที่ชนเผ่าอื่น ๆ ในดินแดนเนเธอร์แล นด์ยังคงเป็นพวกนอกศาสนา ต่อมา พวกแฟรงก์ก็สามารถบีบบังคับพวกซักซันและพวกฟรีเซียซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของตนให้ยอมรับคริสต์ศาสนา ใน ค.ศ. ๘๐๐ ในรัชสมัยของจักรพรรดิชาร์เลอมาญ (Charlemagne) ดินแดนของเนเธอร์แลนด์ทั้งหมดซึ่งในขณะนั้นมีเบลเยียม (Belgium) รวมอยู่ด้วยก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิคาโรลินเจียน (Carolingian Empire) ของพวกแฟรงก์ อย่างไรก็ดี เมื่อจักรวรรดิต้องแตกแยกลงใน กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๙ จากการลงนามในสนธิสัญญาแวร์เดิง (Tresty of Verdun ค.ศ. ๘๔๓) ที่แบ่งดินแดนของจักรวรรดิให้แก่บรรดาพระราชนัดดาทั้ง ๓ พระองค์ของจักรพรรดิชาร์เลอมาญครอบครอง เนเธอร์แลนด์ได้ถูกรวมเข้ากับดัชชีลอแรน (Duchy of Lorrain) หรือโลทารินเจีย (Lotharingia) ต่อมาใน ค.ศ. ๙๒๕ ก็ถูกรวมเข้ากับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)*
     ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๙-๑๐ ชนเผ่าไวกิ้ง (Viking) จากคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ได้เข้ารุกรานและปล้มสะดมดินแดนตามชายฝั่งทะเลและสองฝั่งแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ของยุโรป การรุกราน ดังกล่าวทำให้ชนชั้นขุนนางซึ่งทำหน้าที่ปกครองท้องถิ่นสามารถขยายอำนาจและสร้างระบบการป้องกันที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ผลในทางอ้อมที่ได้รับคือการขยายตัวของเมืองและการเติบโตของกลุ่มพ่อค้าและช่างฝีมือที่เข้ามาอาศัยในเมืองและต้องการความคุ้มครองการพัฒนาและการขยายตัวของชุมชนเมืองในลักษณะดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ที่ดำเนินติดต่อกันตลอดระยะเวลาในสมัยกลาง โดยเฉพาะในระหว่างและหลังสงครามครูเสด (Crusades ค.ศ. ๑๐๙๖-๑๒๙๑) ที่มีการเปิดตลาดการค้าระหว่างยุโรปตะวันตกกับดินแดนตะวันออกใกล้ การขยายตัวของการค้าทำให้พ่อค้าที่มั่งคั่งกลายเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจและอิทธิพลของเมือง ในที่สุดกลุ่มพ่อค้าดังกล่าวก็สามารถลิดรอนอำนาจและอภิสิทธิ์ของชนชั้นขุนนางที่ปกครองเมืองต่าง ๆ ได้ โดยได้รับสิทธิในการปกครองเมืองในรูปของกฎบัตร (charter) และอำนาจในการออกกฎหมาย ในที่สุดเมืองที่ร่ำรวยและเป็นศูนย์กลางของการค้าต่าง ๆ ก็มีลักษณะการปกครองแบบกึ่งสาธารณรัฐอิสระ (quasi-independent republics) โดยมีเมืองบรุกเกอ (Brugge) และต่อมาเมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) เป็นเมืองและท่าเรือที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของยุโรป
     ขณะที่เนเธอร์แลนด์รวมตัวอย่างหลวม ๆ ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ดินแดนต่าง ๆ ก็ถูกแบ่งแยกและตกอยู่ในอำนาจปกครองของเคานต์แห่งฮอลแลนด์ (Count of Holland) ดุ๊กแห่งเกลร์ (Duke of Gelre) ดุ๊กแห่งบราบันต์ (Duke of Brabant) และบิชอปแห่งยูเทรกต์ (Bishop of Utrecht) ส่วนดินแดนทางตอนเหนือ คือ ฟรีสแลนด์ (Friesland) และโกรนิงเงิน (Groningen) สามารถรักษาอิสรภาพได้และปกครองโดยขุนนางผู้น้อยหรือขุนนางท้องถิ่นที่มีฐานะเป็น"หัวหน้า" (headman) ของชุมชน
     ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ผลจากการอภิเษกสมรสระหว่างลูกหลานเจ้าราชรัฐและความผกผันทางการเมืองต่าง ๆ ทำให้ดินแดนต่าง ๆ ที่รวมตัวกันเป็นราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน คือ แคว้นฮอลแลนด์ ยูเทรกต์ บราบันต์ และเกลเดอร์แลนด์รวมทั้งราชอาณาจักรเบลเยียมค่อย ๆ ตกเป็นของดุ๊กแห่งเบอร์กันดี (Duke of Burgundy) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จักรพรรดิชาร์ลที่ ๕ (Charles V ค.ศ. ๑๕๑๙-๑๕๕๖) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และ กษัตริย์แห่งสเปน ( ค.ศ. ๑๕๑๖-๑๕๕๖) แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* พระนัดดา (หลานตา) ในชาร์ล ดุ๊กแห่งเบอร์กันดีก็ทรงสืบทอดดินแดนต่าง ๆ เหล่านี้ รวมทั้งดินแดนของพวกฟรีเซีย และพระองค์ก็ทรงรวมดินแดนต่าง ๆ เหล่านี้เข้าเป็นรัฐเดียวกัน ต่อมาก่อนที่พระองค์จะทรงสละราชสมบัติเพียง ๗-๘ ปี จักรพรรดิชาร์ลที่ ๕ ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๕๔๙ (Pragmatic Sanction of 1549) กำหนดให้มณฑลทั้ง ๑๗ แห่งของเนเธอร์แลนด์มีฐานะเป็นรัฐเอกเทศจากหน่วยการปกครองของทั้งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และราชอาณาจักรฝรั่งเศสที่ ได้อำนาจ ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของดัชชีเบอร์กันดีก่อนหน้านั้น โดยให้รวมเนเธอร์แลนด์เข้ากับสเปนอย่างเป็นทางการและห้ามการแบ่งแยกดินแดนเนเธอร์แลนด์ทั้ง ๑๗ มณฑลอย่างเด็ดขาด แม้ว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปลดปล่อยเนเธอร์แลนด์ให้เป็นอิสระแต่ให้อำนาจเนเธอร์แลนด์ในการปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง
     เมื่อพระเจ้าฟิลิปที่ ๒ (Philip II ค.ศ. ๑๕๕๖-๑๕๙๖) พระราชโอรสในจักรพรรดิชาร์ลที่ ๕ หรืออีกพระอิสริยยศคือ พระเจ้าชาร์ลที่ ๑ แห่งสเปน ทรงได้สืบทอดพระราชมรดกของราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปน พระองค์ซึ่งไม่มีพระทัยผูกพันกับดินแดนแผ่นดินต่ำ [ผิดกับจักรพรรดิชาร์ลที่ ๕ ที่ประสูติที่เมืองเกนต์ (Ghent) และทรงเติบโตในดินแดนเนเธอร์แลนด์] จึงพยายามเข้าไปลิดรอนสิทธิทางการเมืองของประชาชน รวมทั้งเสรีภาพในการนับถือศาสนาซึ่งในขณะนั้นชาวดัตชจำนวนมากได้หันไปนับถือคริสต์ศาสนานิกายกัลแวง (Calvinism) ที่ แพร่หลายอันเนื่องจากการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ พระเจ้า ฟิลิปที่ ๒ ทรงดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดกับเนเธอร์แลนด์โดยเรียกเก็บภาษีในอัตราสูง และส่งดุ๊กแห่งอัลบา (Duke of Alva) ไปปกครองเนเธอร์แลนด์อย่างกดขี่ชาวดัตช์จำนวนมากที่ต่อต้านสเปนหรือไม่ยอมกลับใจมานับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกถูกสังหารอย่างทรมาน ดังนั้น ประชาชนจึงได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านจนเกิดเป็นกบฏและสงครามกลางเมืองที่เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. ๑๕๖๗ และยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี ทั้งนี้ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๑ (Elizabeth I ค.ศ. ๑๕๕๘-๑๖๐๓) แห่งอังกฤษให้การสนับสนุน ใน ค.ศ. ๑๕๗๙ มณฑล ๗ แห่งทางตอนเหนือซึ่งประชากรนับถือคริสต์ศาสนานิกายกัลแวงได้รวมตัวกันเป็นสหภาพแห่งยูเทรกต์ (Union of Utrecht) และประกาศอิสรภาพในอีก ๒ ปีต่อมา โดยมีชื่อเรียกว่า สหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์มีระบอบปกครองแบบสาธารณรัฐท่ามกลาง นานาประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ และมีเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ (William of Orange) เป็น "ประมุขรัฐ" (Stadholder) ทายาทและผู้สืบเชื้อสายของเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ก็ได้รับสิทธิการสืบทอดตำแหน่งพระประมุขต่อไปจนถึงปัจจุบัน ส่วนมณฑล ๑๐ แห่งทางตอนใต้คือดินแดนของราชอาณาจักรเบลเยียมในปัจจุบันที่ ประชาชนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกก็ไม่ยอมรวมตัวด้วยและคงอยู่ใต้ปกครองราชวงศ์ฮับส์บูร์กต่อไป โดยมีชื่อเรียกว่า "เนเธอร์แลนด์ของสเปน" (The Spanish Netherlands) ต่อมาระหว่าง ค.ศ. ๑๗๑๓-๑๗๘๙ ปกครองโดยราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายออสเตรีย มีชื่อเรียกว่า "เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย" (The Austrian Netherlands)
     อย่างไรก็ดี แม้ว่าสหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์จะประกาศเอกราชและกลายเป็นคู่แข่งขันสำคัญกับสเปนในการค้าทางตะวันออกใน "ยุคแห่งการค้นพบและการสำรวจ" (The Age of Discovery and Exploration) แต่สเปนก็ไม่ยอมรับการแยกตัวของสหมณฑลจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ หลังจากสงคราม ๓๐ ปี (Thirty Years’ War ค.ศ. ๑๖๑๘-๑๖๔๘) สิ้นสุดลงพระเจ้าฟิลิปที่ ๔ (Philip IV ค.ศ. ๑๖๒๑-๑๖๖๕) จึงทรงยินยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกแห่งเวสต์ฟาเลีย (The Peace Treaty of Westphalia วันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๖๔๘) รับรองเอกราชของเนเธอร์แลนด์และยกดินแดนบางส่วนของเนเธอร์แลนด์ของสเปนให้แก่เนเธอร์แลนด์ด้วย ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ยังถือว่าเป็น "ยุคทอง" ของเนเธอร์แลนด์ที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วและการค้าได้ขยายตัวไปทั่วโลก ชาวประมง ดัตช์ได้เล่นเรือไปล่าปลาวาฬถึงหมู่เกาะสฟาลบาร์ (Svalbard) ในมหาสมุทรอาร์กติก และบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Dutch East India Company) ก็เดินทางไปติดต่อค้าขายและซื้อเครื่องเทศที่ อินเดียและหมู่เกาะเครื่องเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐอินโดนีเซีย) ในต้น ค.ศ. ๑๖๐๖ บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ยังส่งวิลเลม ยานซ์ (Willem Jansz) คุมเรือเดิฟเกน (Dyfken) จากเกาะบันดา (Banda) เพื่อค้นหาเกาะทองคำที่เชื่อกันว่าอยู่ทางทิศใต้ และทิศตะวันออกของเกาะชวาตามคำเล่าลือของพวกฮินดู ในที่สุดก็ได้ค้นพบดินแดนออสเตรเลียทางตอน

เหนือและยานซ์กับลูกเรือได้ชื่อว่าเป็นคนขาวกลุ่มแรกที่ ได้เห็นออสเตรเลีย จึงทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นชาติแรกที่ได้ค้นพบออสเตรเลีย ต่อมาชาวดัตช์ได้เรียกดินแดนที่ตนค้นพบนี้ว่า "นิวฮอลแลนด์" (New Holland) เป็นเวลาเกือบ ๒๐๐ ปีก่อนที่ อังกฤษจะเข้ายึดครองในปลาย คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ นอกจากนี้ ยังมีการเริ่มจัดตั้งอาณานิคมในบราซิล เมืองนิวอัมสเตอร์ดัม [New Amsterdam ปัจจุบันคือนครนิวยอร์ก (New York)] ดินแดนแอฟริกาตอนใต้และเวสต์อินดีส (West Indies) อีกด้วย เนเธอร์แลนด์กลายเป็นดินแดนที่มั่งคั่งและศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งของยุโรปศิลปินที่มีชื่อเสียงของยุคนี้ ได้แก่ เรมบรันต์ ฮาร์เมนซ์ ฟาน ริเจน (Rambrandt Harmensz van Rijn ค.ศ. ๑๖๐๖-๑๖๖๙) และยาน เวอร์เมร์ ฟาน ฮาร์เลม (Gan Vermeer van Haarlem ค.ศ. ๑๖๓๒-๑๖๗๕) ส่วนกรุงอัมสเตอร์ดัมก็เป็นศูนย์กลางของการเงินของภาคพื้นทวีปยุโรปด้วย
     ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ สหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ต้องประสบกับปัญหาและความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกประเทศ ใน ค.ศ. ๑๖๕๐ เมื่อประมุขรัฐเจ้าชายวิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๖๒๖๑๖๕๐) สิ้นพระชนม์ลง ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างข้าหลวงประจำมณฑลต่าง ๆ กับราชวงศ์ออร์เรนจ์ โดยที่ชาวดัตช์ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนราชวงศ์ออร์เรนจ์ให้ดำรงตำแหน่งประมุขรัฐต่อไป ความขัดแย้งดังกล่าวนี้จึงทำให้ตำแหน่งประมุขรัฐต้องว่างลง เป็นเวลา ๒๒ ปี ซึ่งสร้างความอ่อนแอและบั่นทอนเสถียรภาพของเนเธอร์แลนด์เป็นอันมาก ส่วนปัญหาภายนอกเนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญกับนโยบายการขยายตัวทางการค้าทางทะเลของอังกฤษซึ่งในขณะนั้นได้เกิดการปฏิวัติทางการเมืองและปกครองในระบอบสาธารณรัฐโดยมีทอมัส ครอมเวลล์ (Thomas Cromwell ค.ศ. ๑๖๔๙-๑๖๕๘) เป็นผู้นำ พระราชบัญญัติการเดินเรือ (Navigation Act) ค.ศ. ๑๖๕๑ ที่กีดกันเรือสินค้าต่างชาติและบังคับให้ต่างชาติต้องใช้เรือสัญชาติอังกฤษในการค้าขายกับอังกฤษทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องสูญเสียผลประโยชน์ในทางการค้าเป็นอันมาก ซึ่งส่งผลกระทบให้เนเธอร์แลนด์เข้าสู่สงครามกับอังกฤษที่เคยเป็นพันธมิตรกันในอดีตในสงครามอังกฤษ-ดัตช์ (Anglo- Dutch War) ครั้งที่ ๑ ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๕๒-๑๖๕๔ ต่อมาภายหลังการฟื้นฟูการปกครองระบอบกษัตริย (Restoration) ค.ศ. ๑๖๖๐ ในอังกฤษเนเธอร์แลนด์ก็ทำสงครามกับอังกฤษอีก ๒ ครั้ง ในระหว่าง ค.ศ. ๑๖๖๕-๑๖๖๗ และระหว่าง ค.ศ. ๑๖๗๒-๑๖๗๔ ซึ่งในครั้งที่ ๓ นี้ ฝรั่งเศสได้เข้าร่วมกับฝ่ายอังกฤษด้วย สงครามได้สร้างความหายนะให้แก่กองทัพเรือดัตช์เป็นอันมาก อีกทั้งเนเธอร์แลนด์ยังสูญเสียเมืองนิวอัมสเตอร์ดัมที่เป็นสถานีการค้าที่สำคัญในทวีปอเมริกาเหนือให้แก่อังกฤษอีกด้วย
     ความสัมพันธ์ระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอังกฤษแนบแน่นขึ้นเมื่อประมุขรัฐเจ้าชายวิลเลียมที่ ๓ (William III ค.ศ. ๑๖๗๒-๑๗๐๒) ในฐานะผู้สืบเชื้อสายของราชวงศ์สจวต (Stuart) แห่งอังกฤษ ทรงเป็นพระราชนัดดา (หลานตา) ในพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๖๒๕-๑๖๔๙) และผู้นำของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution ค.ศ. ๑๖๘๘) ที่ขับพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ (James II ค.ศ. ๑๖๘๕-๑๖๘๘) ออกจากบัลลังก์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติอังกฤษร่วมกับเจ้าหญิงแมรี (Mary) พระชายาซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ด้วย ดังนั้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๘๘-๑๗๐๒ ซึ่งเป็นปีที่ ประมุขรัฐเจ้าชายวิลเลียมที่ ๓ หรือพระอิสริยยศพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William III ค.ศ. ๑๖๘๙-๑๗๐๒) แห่งอังกฤษสิ้นพระชนม์นั้น สหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์กับราชอาณาจักรอังกฤษจึงมีพระประมุขร่วมกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ยังทำให้เนเธอร์แลนด์เข้าร่วมรบเป็นฝ่ายอังกฤษในสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๑๓) กับฝรั่งเศส ซึ่งทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นสมรภูมิที่ได้รับความเสียหายอย่างมหันต์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จนไม่สามารถที่จะแข่งขันอำนาจกับมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ได้อีกต่อไป
     ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ สหมณฑลแห่งเนเธอร์แลนด์ได้ประสบปัญหาภายในและแตกแยกทางความคิดระหว่างพวกที่นิยมราชวงศ์ออเรนจ์ (Orangists) กับพวกรักชาติ (Patriots) โดยฝ่ายแรกต้องการจะเพิ่มพระราชอำนาจให้แก่ประมุขรัฐ ขณะที่ฝ่ายหลังซึ่งได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติของชาวอเมริกัน (American Revolution ค.ศ. ๑๗๗๖) ต้องการให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์ยังต้องประสบภัยสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่ ๔ ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๐-๑๗๘๔ เมื่อเนเธอร์แลนด์ให้การสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกันและเป็นชาติแรกที่ รับรองเอกราชและแสดงความเคารพธงชาติของสหรัฐอเมริกา สงครามสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยอย่างยับเยินของเนเธอร์แลนด์และสร้างความหายนะแก่เศรษฐกิจอย่างมาก ต่อมาพวกรักชาติได้ก่อกบฏขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๘๕ แต่ถูกรัฐบาลและฝ่ายที่นิยมราชวงศ์ออเรนจ์ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากปรัสเซียที่มีราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* เกี่ยวดองเป็นพระญาติส่งทหารมาช่วยปราบปราม พวกก่อการกบฏจำนวนมากได้หลบหนีลี้ภัยไปอาศัยในฝรั่งเศส ส่วนภายในประเทศกองกำลังปรัสเซียจำนวนหนึ่งก็ยึดบ้านของชาวเมืองเป็นที่อยู่อาศัยและ ปล้นชิงทรัพย์สิน พวกนิยมราชวงศ์ออเรนจ์ยังใช้มาตรการรุนแรงกับฝ่ายตรงกันข้ามจนไม่มีใครกล้าปรากฏตัวในที่สาธารณะโดยปราศจากสัญลักษณ์ผ้าหรือโบจีบเป็นวงกลม (cockade) สีส้ม ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของราชวงศ์ติดบนหมวกเพราะอาจถูกรุมประชาทัณฑ์ได้
     อย่างไรก็ดี พวกนิยมราชวงศ์ออเรนจ์มีอำนาจปกครองต่อไปอีกไม่นาน เพราะต่อมาการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ได้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้พวกรักชาติต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๙๕ เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ยกกองทัพเข้ารุกรานเนเธอร์แลนด์จึงไม่ได้รับการต่อต้านจากชาวดัตช์มากนัก ประมุขรัฐเจ้าชายวิลเลียมที่ ๕ เสด็จลี้ภัยไปยังอังกฤษ พวกรักชาติจึงประกาศจัดตั้ง "สาธารณรัฐบาตาเวีย" (Batavian Pepublic) ขึ้นโดยมีสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นแม่แบบ อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐบาตาเวียก็มีอายุสั้น อีกทั้งยังตกอยู่ใต้อิทธิพลและมีสภาพเป็นรัฐบริวารของฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๘๐๖ หลังจากการตั้งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ (First Empire of France)* นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ตซึ่งได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ( ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) ได้ใช้พระราชอำนาจยุบสาธารณรัฐบาตาเวียแล้วสถาปนาเป็นราชอาณาจักรฮอลแลนด์ (Kingdom of Holland) และโปรดเกล้าฯ ให้หลุยส์ โบนาปาร์ต (Louis Bonaparte ค.ศ. ๑๗๗๘-๑๘๔๖) พระอนุชาไปครองราชบัลลังก์ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๘๑๐ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงรวมราชอาณาจักรฮอลแลนด์เข้ากับจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๑ เนื่องจากทรงเห็นว่าพระอนุชาพยายามรักษาผลประโยชน์ของเนเธอร์แลนด์มากเกินไป
     ใน ค.ศ. ๑๘๐๓ ขณะที่เนเธอร์แลนด์ยังดำรงสถานภาพสาธารณรัฐบาตาเวียอยู่นั้น อังกฤษได้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสหลังจากฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะถอนกองกำลังจากดินแดนเนเธอร์แลนด์ และราชวงศ์ออเรนจ์ได้ลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษยินยอมยกอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ในดินแดนต่าง ๆ ให้แก่อังกฤษเพื่อ "ความปลอดภัย" และมีคำสั่งให้ข้าหลวง ของอาณานิคมจำนนต่อทหารอังกฤษด้วยสนธิสัญญาดังกล่าวนี้นับเป็นจุดจบของจักรวรรดิอาณานิคมของ เนเธอร์แลนด์เพราะต่อมาเนเธอร์แลนด์ต้องสูญเสียอาณานิคมสำคัญไปอย่างถาวร เช่น เคปโคโลนี (Cape Colony)* กายอานา (Guyana) ซีลอน (Ceylon) หรือศรีลังกาให้แก่อังกฤษ ยกเว้นอินโดนีเซียซึ่งได้รับคืนใน ค.ศ. ๑๘๑๔
     หลังจากจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงพ่ายแพ้แก่ประเทศสัมพันธมิตรในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕) ได้ฟื้นฟูประเทศเนเธอร์แลนด์ขึ้นมาใหม่หลังจากถูกลบหายไปจากแผนที่ยุโรปเป็นเวลาเกือบ ๕ ปี โดยให้รวมเนเธอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียหรือเบลเยียมเข้าด้วยกันและสถาปนาเป็น "สหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์" (United Kingdom of the Netherlands) เพื่อเป็นปราการในการสกัดกั้นการขยายอำนาจของฝรั่งเศสในอนาคตตามหลักการปิดล้อม (Principle of Containment) ของที่ประชุมฯ ทั้งนี้ โดยอัญเชิญเจ้าชายวิลเลียม แห่งออเรนจ์พระโอรสในอดีตประมุขรัฐเจ้าชายวิลเลียมที่ ๕ ให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เฉลิมพระอิสริยยศ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๔๐)* ส่วนลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) ซึ่งเป็นดินแดนอีกแห่งหนึ่งในดินแดนแผ่นดินต่ำได้รับสถาปนาขึ้นเป็นรัฐชั้น"แกรนด์ดัชชี" (Grand Duchy) และให้อยู่ใต้อำนาจปกครองของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑
     อย่างไรก็ดี การรวมตัวของกลุ่มดินแดนแผ่นดินต่ำภายใต้การปกครองของกษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์ดังกล่าวก็มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น มณฑลทางตอนใต้หรือเบลเยียมที่ประชาชนพูดภาษาฝรั่งเศสและนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกแม้จะเคยรวมตัวกับดินแดน เนเธอร์แลนด์ในอดีต แต่ในขณะนั้นก็มีความแตกต่างกับชาวดัตช์ทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม นโยบายเศรษฐกิจและอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution)* ในฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๓๐ ชาวเบลเยียมจึงเห็นเป็นโอกาสก่อกบฏเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจาก เนเธอร์แลนด์และต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ก็สถาปนาเป็นราชอาณาจักรเบลเยียม พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงส่งกองทัพเข้าไปปราบปรามแต่ต้องถอยทัพเมื่อฝรั่งเศสเรียกระดมพล แต่เนเธอร์แลนด์ก็ไม่ยอมรับรองเอกราชของเบลเยียมจนถึง ค.ศ. ๑๘๓๙ ส่วนลักเซมเบิร์กในเวลาต่อมาก็แยกตัวออกจากความสัมพันธ์กับราชวงศ์ออเรนจ์ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมีนา (Wilhelmina ค.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๔๘)* เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เพราะกฎหมายของลักเซมเบิร์กในขณะนั้นไม่ให้สิทธิราชนารีในการสืบสันตติวงศ
     ระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (The Revolutions of 1848)* ในยุโรป เนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการปกครอง โดยพระเจ้าวิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๔๙)* โปรดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นและประกาศใช้เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๘ รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งถือเป็นรากฐานของระบอบการปกครองแบบประชาธิ ปไตยของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาล่าง (First Chamber) แทนระบบการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ส่วนสมาชิกสภาสูง (Second Chamber) ให้เลือกจากผู้ที่จ่ายภาษีเกินกว่าจำนวนที่กำหนด ให้สิทธิเสมอภาคแก่มณฑลที่ประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเท่ากับมณฑลอื่น ๆ ยกเลิกกฎข้อห้ามทางศาสนาต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิของประชาชนและอื่น ๆ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็มีการขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ประชาชนมากขึ้นรวมทั้งการปฏิรูปทางสังคมต่าง ๆ ผลจากการปรับปรุงและการปฏิรูปกฎหมายและสังคมดังกล่าว จึงทำให้พรรคกรรมกรในเนเธอร์แลนด์เติบโตและมีการขยายตัวขององค์กรแรงงานต่าง ๆ จนพัฒนาเป็นสหภาพแรงงานในที่สุด
     ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นยุคที่จักรวรรดินิยม (Imperialism)* ขยายตัว เนเธอร์แลนด์ก็สามารถขยายเขตปกครองในอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันก็จัดให้มีการปฏิรูประบบการบริหารอาณานิคม ยกเลิกการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม และหลังจาก ค.ศ. ๑๘๗๗ ก็ยุติการส่งเงินคงคลังไปยังเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี เนเธอร์แลนด์ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านของคนพื้นเมืองกล่าวคือต้องทำสงครามยืดเยื้อกับอาเจะห์ (Aceh) และการปราบกบฏในเกาะลอมบอก (Lombok) ใน ค.ศ. ๑๘๙๔
     ส่วนในบทบาทด้านการต่างประเทศนั้นเนเธอร์แลนด์ก็จัดให้มีการประชุมกรุงเฮก (Hague Conferences)* ๒ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติเพื่อระงับความ ขัดแย้งระหว่างนานาประเทศมหาอำนาจยุโรปไม่ให้บานปลายเป็นสงครามใหญ่ โดยมีผู้แทนของมหาอำนาจยุโรปและสหรัฐอเมริกาเข้าประชุมด้วย และมีซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗) แห่งรัสเซียเสด็จมาเป็นประธานในการประชุมครั้งที่ ๒ แม้ผลของการประชุมจะล้มเหลวและไม่สามารถป้องกันการเกิดของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ แต่ ก็ช่วยส่งเสริมบทบาทของเนเธอร์แลนด์ในฐานะประเทศที่รักสันติภาพ นอกจากนี้ แนวคิดของการประชุมกรุงเฮกทั้ง ๒ ครั้งก็เป็นการปูพื้นฐานเรื่องการสร้างสันติภาพและการป้องกันสงครามระหว่างชาติอันนำไปสู่การจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลงด้วย
     ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในขณะที่สถานการณ์ระหว่างประเทศกำลังตึงเครียดอยู่นั้นเนเธอร์แลนด์ได้เรียกระดมพล แต่เมื่อเกิดสงครามเนเธอร์แลนด์ได้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ถูกกองทัพต่างชาติเข้าย่ำยีแต่ประเทศก็ได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างมากเนื่องจากถูกห้อมล้อมไปด้วยภัยของสงคราม เบลเยียมซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านถูกละเมิด "ความเป็นกลางอย่างถาวร" (permanent neutrality) ที่มหาอำนาจยุโรปเคยให้การค้ำประกันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๓๙ และเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของฝ่ายเยอรมนี ส่วนทะเลเหนือก็อยู่ในเส้นทางลาดตระเวณของเรืออู (U-boat) ของฝ่ายเยอรมนีในการทำยุทธนาวีมหาสมุทรแอตแลนติก (Battle of the Atlantic)* เพื่อทำลายเรือขนส่งเสบียงสินค้าและยุทธปัจจัยที่จะส่งไปยังเกาะอังกฤษ เนเธอร์แลนด์จึงไม่สามารถส่งสินค้าออกได้ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะเสื่อมถอย อีกทั้งประชาชนยังต้องเผชิญกับการขาดแคลนเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภค จนต้องมีการใช้คูปองในการแบ่งปันอาหาร ความอดอยากทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งลุกฮือเข้าแย่งชิงอาหารที่กำลังนำส่งให้แก่กองทัพเกิดเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า "การลุกฮือมันฝรั่ง" (Potato Rebellion) ในกรุงอัมสเตอร์ดัมใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ต่อมา ปีเตอร์ เยลเลส ทรูลสตรา (Pieter Jelles Troelstra) ผู้นำพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Labour Party - SDAP) เห็นเป็นโอกาสที่จะปลุกระดมให้กรรมกรก่อการปฏิวัติสังคมนิยมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ภายหลังสงคราม ชาวดัตช์เพศชายที่บรรลุนิติภาวะทุกคนได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนผู้หญิงได้รับสิทธิดังกล่าวใน ค.ศ. ๑๙๒๒
     เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เนเธอร์แลนด์ประกาศตนเป็นกลางอีกครั้ง แต่ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ กองทัพเยอรมันก็เข้ารุกราน เนเธอร์แลนด์และเบลเยียม และสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ สมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมีนาเสด็จลี้ภัยไปประทับยังอังกฤษในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ในวันรุ่งขึ้นกองทัพอากาศเยอรมันก็โจมตีเมืองรอตเตอร์ดัมซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ ๒ ของเนเธอร์แลนด์ มีผู้เสียชีวิตกว่า ๘๐๐ คน บ้านเมืองเสียหายอย่างยับเยินและมีผู้ไร้ที่ อยู่อาศัยถึง ๗๘,๐๐๐ คน การต่อต้านกองทัพเยอรมันจึงสิ้นสุดลงโดยปริยาย อย่างไรก็ดี เนเธอร์แลนด์ก็มิได้ประกาศยอมแพ้ต่อเยอรมนี มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในกรุงลอนดอนเพื่อต่อต้านเยอรมนีและสั่งการบริหารอาณานิคมโพ้นทะเล
     ในวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ รัฐบาลพลัดถิ่นได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรของเยอรมนีหลังจากกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานอีสต์อินดีส (East Indies) ของเนเธอร์แลนด์ และอีก ๒ สัปดาห์ต่อมาก็ประกาศสงครามกับอิตาลี ซึ่งมีผลย้อนหลังถึงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยังได้ส่งมอบเรือพาณิชย์และเรือรบจำนวนมากที่สามารถหลบหนีออกจากอีสต์อินดีสไปยังชายฝั่งออสเตรเลีย ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาะชวาได้ในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ให้อยู่ในบังคับบัญชาของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่อใช้ประโยชน์ในสงครามอีกด้วย
     ส่วนภายในประเทศระหว่างที่ถูกเยอรมันเข้ายึดครองซึ่งมีอาร์เทอร์ ซีส์-อิงกวาร์ต (Arthur Seyss- Inquart) เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ชาวดัตช์ผู้รักชาติก็พยายามต่อสู้เพื่อปกป้องมาตุภูมิต่อไป มีการทำลายเขื่อนเพื่อปล่อยให้น้ำท่วมทำลายเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งและเอาชนะกองทัพเยอรมันได้ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ชาวดัตช์จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คนถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานเยี่ยงทาสในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเยอรมนี ต่อมา ในปลายปีเดียวกันนั้นชาวดัตช์จำนวน ๒,๒๐๐ คนต้องเสียชีวิตลงจากการถูกโทษประหารหรือล้มตายอย่างน่าอนาถในค่ายกักกัน (Concentration Camp)* และทัณฑสถาน ส่วนชาวดัตช์เชื้อสายยิวซึ่งมีจำนวน ๑๔๐,๐๐๐ คนในเนเธอร์แลนด์ในช่วงต้นของสงครามก็ถูกจับกุมประหารชีวิตและส่งเข้าค่ายกักกันเพื่อใช้แรงงาน เมื่อสงครามสิ้นสุดลง มีชาวดัตช์เชื้อสายยิวจำนวน ๒๐,๐๐๐ คนเท่านั้นที่รอดชีวิตแอนน์ แฟรงก์ (Anne Frank ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๔๕)* เด็กสาวชาวยิวเจ้าของสมุดบันทึกที่เธอเขียนเล่าประสบการณ์การหลบซ่อนเพื่อหนีภัยจากการกวาดล้างชาวยิวของนาซีเยอรมันในห้องใต้หลังคาในกรุงอัมสเตอร์ดัมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๔ ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่าง ๆ และมีผู้นิยมอ่านจำนวนนับล้าน ๆ คนในภายหลังก็เป็นเหยื่อคนหนึ่งของ นโยบายการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)* ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ในระหว่างนี้ด้วย
     ในปลายสงครามหลังจากกองทัพพันธมิตรได้ปฏิบัติการวันดี-เดย์ (D-Day)* ด้วยการยกพลข้ามช่องแคบอังกฤษเพื่อขึ้นบกที่หาดนอร์มองดี (Normandy) เพื่อปลดปล่อยยุโรปจากการยึดครองของเยอรมนีในวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทัพพันธมิตรก็เคลื่อนพลต่อไปยังตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์และสามารถเข้า ควบคุมสะพานข้ามแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ ได้ ยกเว้นสะพานข้ามแม่น้ำไรน์ที่เมืองอาร์เนม (Arnhem) ดังนั้นในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ดินแดนต่าง ๆ ทาง ตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ก็ได้รับการปลดปล่อยเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๔๕ ขณะที่การต่อสู้ดำเนินอยู่นั้นชาวดัตช์จำนวนมากก็ต้อง เผชิญกับความหนาวและการขาดแคลนอาหารจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก และทำให้ช่วงระยะเวลาดังกล่าวถูกเรียกว่า "ฤดูหนาวอันหิวโหย" (Hunger Winter) ด้วย ต่อมา ในวันที่ ๔ พฤษภาคม กองทัพนาซีเยอรมันในเนเธอร์แลนด์ก็ประกาศยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไขแก่จอมพล เซอร์เบอร์นาร์ด ลอว์ มอนต์โกเมอรี (Bernard Law Montgomery)* ผู้บัญชาการกองทัพที่ ๒๑ (Twenty-first Army Group) ดินแดนเนเธอร์แลนด์ทั้งหมดจึงเป็นอิสระจากการยึดครองของนาซีเยอรมนีส่วนอาณานิคมโพ้นทะเลตกอยู่ในการยึดครองของญี่ปุ่นต่อไปจนกระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ แต่อีก ๒ วันต่อมา ดินแดนอาณานิคม ต่าง ๆ ในอีสต์อินดีสก็ประกาศเอกราชจากการปกครองของเนเธอร์แลนด์ อันนำไปสู่ภาวะที่ยุ่งเหยิงทางการเมืองที่เรียกว่า "การปฏิวัติชาตินิยมอินโดนีเซีย" (Indonesian National Revolution) โดยเนเธอร์แลนด์ได้ส่งกองกำลังไปทำสงครามต่อสู้กับพวกชาตินิยมอินโดนีเซียอย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์ยืดเยื้อเป็นเวลา ๒ ปี เนเธอร์แลนด์ก็ถูกองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* และสหรัฐอเมริกากดดัน โดยสหรัฐอเมริกาข่มขู่ที่จะงดให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจตาม แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* เนเธอร์แลนด์จึงยินยอมรับหลักการการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (self determination) ของอินโดนีเซีย อินโดนีเซียจึงประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ส่วนเนเธอร์แลนด์ยังคงได้รับสิทธิปกครองนิวกินี (New Guinea) ทางด้านตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่สำคัญของเนเธอร์แลนด์ต่อไป ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ เนเธอร์แลนด์ได้ยินยอมส่งมอบนิวกินีตะวันตกให้แก่อินโดนีเซีย นับเป็นการสิ้นสุดการเข้าไปมีอำนาจใน เกาะดังกล่าวและอินโดนีเซียเป็นเวลากว่า ๓๐๐ ปีด้วยต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๕ เนเธอร์แลนด์ยังต้องยินยอมมอบเอกราชให้แก่ซูรินาเม (Suriname) ดินแดนในปกครองในทวีปอเมริกาใต้ที่ได้รับอำนาจปกครองตนเองมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๔ ดังนั้น ในปัจจุบันเนเธอร์แลนด์จึงเหลือเพียงดินแดนเนเธอร์แลนด์แอนทิลลิสที่ประกอบด้วยหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน (Caribbean) และดินแดนอารูบาซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งสาธารณรัฐโบลีวาร์แห่งเวเนซุเอลา (Bolivarian Republic of Venezuela) ประมาณ ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น
     ในด้านเศรษฐกิจ แม้เนเธอร์แลนด์จะสูญเสียอีสต์อินดีสและโดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งเป็นอาณานิคมและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ แต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะยุติลง เนเธอร์แลนด์ได้เข้าประชุมว่าด้วยศุลกากรที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ และได้ร่วมลงนามกับเบลเยียมและลักเซมเบิร์กจัดตั้งสหภาพศุลกากร (Customs Union) ขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีอากรในระบบเดียวกันอันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยในระหว่างสงคราม ข้อตกลงดังกล่าวได้บรรลุผลใน ค.ศ. ๑๙๔๘ โดยภาษีศุลกากรระหว่างประเทศทั้งสามหรือกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ได้ถูกยกเลิก ประเทศสมาชิกได้หันมายึดถือนโยบายเดียวกันทางการค้ากับต่างประเทศและใช้อัตราศุลกากรในระบบเดียวกันในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าและอื่น ๆ เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์จึงมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และเนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามได้ก่อนประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ นอกจากนี้ การที่เนเธอร์แลนด์เข้าร่วมในแผนมาร์แชลหรือที่เรียกว่า โครงการฟื้นฟูยุโรป (European Recovery Programme - ERP) ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในรูปแบบของเงินทุน วัตถุดิบ เครื่องจักรอุตสาหกรรมและอื่น ๆ ก็ทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสัมฤทธิผลในเวลาอันรวดเร็ว
     อย่างไรก็ดี ประสบการณ์อันขมขื่นระหว่างสงครามและความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาก็ทำให้เนเธอร์แลนด์รวมทั้งสมาชิกของกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ยกเลิกนโยบายเป็นกลางและเข้าร่วมกับสมาชิกก่อตั้งขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ต่อมาทั้ง ๓ ประเทศยังเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งองค์การว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ที่สำคัญได้แก่ ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้า (European Coal and Steel Community - ECSC)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ยิ่งไปกว่านั้น เนเธอร์แลนด์ยังเป็น ๑ ใน ๖ ประเทศที่เรียกว่า "The Inner Europe" อันประกอบด้วยเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมนีตะวันตก) ที่ เริ่มวางโครงการก่อตั้งองค์การร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกที่ มีขนาดใหญ่ต่อมา คือประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community - EURATOM)* เพื่อความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจและการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ในภายหลังประชาคมเศรษฐกิจยุโรปยังได้พัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นเอกภาพอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นอันได้แก่ ประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community - EC)* และสหภาพยุโรปหรืออียูตามลำดับ เนเธอร์แลนด์จึงมีความโดดเด่นในฐานะประเทศผู้ร่วมก่อตั้งองค์การสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ที่รวมสมาชิกประเทศยุโรปให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๙ เนเธอร์แลนด์เป็น ๑ ใน ๑๑ ประเทศสมาชิกแรกของสหภาพยุโรปจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด ๑๕ ประเทศในขณะนั้น ซึ่งผ่านขั้นตอนการปรับสถานะทางเศรษฐกิจภายในประเทศตามกรอบของสนธิสัญญามาสตริกต์ (Maastricht Treaty ค.ศ. ๑๙๙๓)* เข้าสู่สภาพเศรษฐกิจและการเงินได้ โดยเริ่มหันมาใช้เงินตราสกุลเดียวกันที่เรียกว่าเงินยูโร (Euro)*
     ระหว่างทศวรรษ ๑๙๕๐ และทศวรรษ ๑๙๖๐ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนั้น เนเธอร์แลนด์ต้องประสบกับภาวะการขาดแคลนแรงงาน รัฐบาลจึงหันมาดำเนินนโยบายส่งเสริมให้มีการอพยพแรงงานเข้าประเทศ ในระยะแรกได้มีแรงงานชาวอิตาลีและชาวสเปนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากรุ่นต่อมาก็เป็นชาวเติร์กจากตุรกีและชาวโมร็อกโก นอกจากนี้ ยังมีผู้อพยพจากประเทศอาณานิคมเดิม เช่น อินโดนีเซีย สุรินัม และเนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส เดินทางมาตั้งรกรากในเนเธอร์แลนด์เป็นอันมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม และทำให้สังคมดัตช์กลายเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน คนหนุ่มสาวและนิสิตนักศึกษาชาวดัตช์ก็เริ่มปฏิเสธธรรมเนียมปฏิบัติและแนวคิดทางด้านศีลธรรมจรรยาที่ถือเป็น "เสาหลัก" ของสังคมดัตช์มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน เช่น การแบ่งแยกทางการศึกษาและรายการโทรทัศน์สำหรับผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก โปรเตสแตนต์ พวกสังคมนิยมและพวกเสรีนิยม อีกทั้งยังมีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ เช่น เรื่องสิทธิสตรี เสรีภาพทางเพศ การรณรงค์ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและอื่น ๆ ดังนั้น ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ เนเธอร์แลนด์จึงเป็นประเทศที่มีเสรีภาพมากที่สุดประเทศหนึ่ง มีการผ่อนปรนในเรื่องของการใช้ยาเสพติด และให้การการุณยฆาต (euthanasia) เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ถูกต้องตามกฎหมายในต้น ค.ศ. ๒๐๐๑ รวมทั้งการรับรองสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกันให้มีความทัดเทียมเท่ากับคู่สมรสชาย-หญิงตามปรกติอีกด้วย

     เนเธอร์แลนด์เป็น๑ ใน ๗ ประเทศยุโรปที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ (Beatrix ค.ศ. ๑๙๘๐-)* แห่งราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซา (Orange-Nassau) เป็นประมุข และมียาน ปีเตอร์ บัลเคเนนเด (Jan Peter Balkenende) แห่งพรรคคริสเตียนเดโมเครติกแอปพีล (Christian Democratic Appeal) เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายก รัฐมนตรีเป็นครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ บัลเคเนนเดยังได้ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพยุโรปอีกตำแหน่งด้วย ซึ่งเป็นตำแหน่งหมุนเวียนระหว่างชาติสมาชิกของสหภาพยุโรปโดยมีวาระ ๖ เดือน
     ปัญหาที่เนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญอย่างมากในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑ ได้แก่ ปัญหาผู้อพยพที่มีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติและความเชื่อทางศาสนา ในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๒ พิม ฟอร์ทาวน์ (Pim Fortuyn) นักการเมืองพอพิวลิสต์ปีกขวา (right-wing populist) ซึ่งมีนโยบายต่อต้านการอพยพเข้ามาอาศัยในเนเธอร์ แลนด์ของพวกต่างชาติที่นับถือศาสนาอิสลามได้ถูกลอบสังหารในช่วงการหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๒๐๐๒ ก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเพียง ๒ วันการเสียชีวิตของเขาได้สร้างกระแสการต่อต้านการรับผู้อพยพของเนเธอร์แลนด์เป็นอันมาก และทำให้พรรคเลสต์พิมฟอร์ทาวน์ (Lijst Pim Fortuyn) ของเขาชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ ๒ และเข้าร่วมในรัฐบาลผสม นับว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองของเนเธอร์แลนด์ต่อมาในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๔ เทโอ ฟาน โกก (Theo van Gogh) ผู้กำกับภาพยนตร์และนักประชาสัมพันธ์ที่มีแนวคิดสนับสนุนฟอร์ทาวน์ก็ถูกเด็กหนุ่มชาวดัตช์เชื้อสายโมร็อกโกที่นับถือศาสนาอิสลามลอบสังหารอีก นับเป็นการโหมกระแสต่อต้านและข้อถกเถียงเกี่ยวกับการอนุญาตให้ชาวมุสลิมอพยพ หัวรุนแรงอาศัยอยู่ต่อไป รวมทั้งนโยบายการสร้างสังคมแบบบูรณาการเพื่อให้ชาวดัตช์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.



คำตั้ง
Netherlands, Kingdom of the; Holland
คำเทียบ
ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์; ฮอลแลนด์
คำสำคัญ
- ตลาดร่วมยุโรป
- ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- ออเรนจ์-นัสเซา, ราชวงศ์
- พรรคเลสต์พิมฟอร์ทาวน์
- ฟอร์ทาวน์, พิม
- เบียทริกซ์, สมเด็จพระราชินีนาถ
- โกก, เทโอ ฟาน
- บัลเคเนนเด, ยาน ปีเตอร์
- การประชุมที่กรุงเฮก
- ความเป็นกลางอย่างถาวร
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- หลุยส์ โบนาปาร์ต
- หลักการปิดล้อม
- สงครามนโปเลียน
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- บาตาเวีย, สาธารณรัฐ
- วิลเลียมที่ ๑, พระเจ้า
- การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม
- เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร
- เคปโคโลนี
- สจวต, ราชวงศ์
- โฮเฮนซอลเลิร์น, ราชวงศ์
- สงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน
- สงครามอังกฤษ-ดัตช์
- วิลเลียมที่ ๓, เจ้าชาย
- วิลเลียมที่ ๓, พระเจ้า
- พวกรักชาติ
- พวกนิยมราชวงศ์ออเรนจ์
- การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์
- ชาลส์ที่ ๑, พระเจ้า
- เจมส์ที่ ๒, พระเจ้า
- ฮาร์เลม, ยาน เวอร์เมร์ ฟาน
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- อินเดียตะวันออกของฮอลันดา, บริษัท
- สฟาลบาร์, หมู่เกาะ
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- วิลเลียมที่ ๒, เจ้าชาย
- สงคราม ๓๐ ปี
- สนธิสัญญาสงบศึกแห่งเวสต์ฟาเลีย
- ริเจน, เรมบรันต์ ฮาร์เมนซ์ ฟาน
- พระราชบัญญัติการเดินเรือ
- บันดา, เกาะ
- นิวฮอลแลนด์
- ยานซ์, วิลเลม
- ฟิลิปที่ ๔, พระเจ้า
- นิวอัมสเตอร์ดัม, เมือง
- เอลิซาเบทที่ ๑, สมเด็จพระราชินีนาถ
- ครอมเวลล์, ทอมัส
- สหภาพแห่งยูเทรกต์
- อัลบา, ดุ๊กแห่ง
- วิลเลียมแห่งออเรนจ์, เจ้าชาย
- ยุคแห่งการค้นพบและการสำรวจ
- ฟิลิปที่ ๒, พระเจ้า
- พระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๕๔๙
- เนเธอร์แลนด์ของออสเตรีย
- เบอร์กันดี, ดุ๊กแห่ง
- นิกายกัลแวง
- เนเธอร์แลนด์ของสเปน
- เกนต์, เมือง
- ชาร์ลที่ ๕, จักรพรรดิ
- การปฏิรูปศาสนา
- ฮอลแลนด์, เคานต์แห่ง
- สนธิสัญญาแวร์เดิง
- แอนต์เวิร์ป, เมือง
- ลอแรน, ดัชชี
- โลทารินเจีย
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
- ฟรีสแลนด์
- บราบันต์, ดุ๊กแห่ง
- บิชอปแห่งยูเทรกต์
- บรุกเกอ, เมือง
- ชาร์เลอมาญ, จักรพรรดิ
- โกรนิงเงิน
- คาโรลินเจียน, จักรวรรดิ
- คลอวีสที่ ๑, พระเจ้า
- ไรน์, แม่น้ำ
- ศาลโลก
- รอตเตอร์ดัม, เมือง
- โรมัน, จักรวรรดิ
- ยูเทรกต์, เมือง
- ฟรีเซีย, ภาษา
- แฟรงก์, พวก
- มาสตริกต์, เมือง
- เนเมเกน, เมือง
- บาตาเวีย
- ฟรีเซีย, พวก
- เติร์ก, พวก
- เนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส
- แซกซัน, พวก
- ทูบันที, พวก
- สหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์
- สหภาพยุโรป
- กอล, แคว้น
- เหนือ, ทะเล
- แคนนิเนเฟต
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป
- ฝรั่งเศสที่ ๑, จักรวรรดิ
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- เนเธอร์แลนด์, สหมณฑลแห่ง
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- เนเธอร์แลนด์, ราชอาณาจักร
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ
- กลุ่มประเทศเบเนลักซ์
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- จักรวรรดินิยม
- ลอมบอก, เกาะ
- ยุทธนาวีที่มหาสมุทรแอตแลนติก
- วิลเลียมที่ ๒, พระเจ้า
- วิลเฮลมีนา, สมเด็จพระราชินีนาถ
- องค์การสันนิบาตชาติ
- การลุกฮือมันฝรั่ง
- ทรูลสตรา, ปีเตอร์ เยลเลส
- ค่ายกักกัน
- นอร์มองดี, หาด
- นโยบายการทำลายล้างเผ่าพันธุ์
- แฟรงก์, แอนน์
- วันดี-เดย์
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- อาร์เทอร์ ซีส์-อิงกวาร์ต
- แผนมาร์แชลล์
- โครงการฟื้นฟูยุโรป
- มอนต์กอเมอรี, เบอร์นาร์ด ลอว์
- ฤดูหนาวอันหิวโหย
- สหภาพศุลกากร
- การการุณยฆาต
- องค์การสหประชาชาติ
- ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้า
- เงินยูโร
- ประชาคมพลังงานปรมาณูแห่งยุโรปหรือยูราตอม
- ประชาคมยุโรป
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf